เก็บตก ตะลุย “สระบุรี-ฉะเชิงเทรา” ปั้นนักข่าวพลเมืองด้านพลังงาน

โครงการนักข่าวพลเมือง เป็นโครงการเล็กๆ ที่เว็บไซต์ข่าวเล็กๆ อย่าง ประชาไท เริ่มทำขึ้น เพื่ออบรมการเขียนข่าว วิธีการนำเสนอ การสื่อสารเรื่องราวข้อมูลในประเด็นพลังงานของพื้นที่ต่างๆ โดยให้คนในพื้นที่ได้หยิบจับประเด็นขึ้นมาบอกกล่าวเอง ในสารพัดรูปแบบที่จะทำได้ เพราะลำพังนักข่าว 6-7 คนที่มีคงไม่มีปัญญาทำข่าวได้มากมายนัก ประกอบกับกระแส citizen journalist ในโลกอินเทอร์เน็ตกำลังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกตื่นตัว

ประชาไทเคยจัดค่ายอบรมกันมาแล้วครั้งหนึ่ง มีเครือข่ายหลากหลายเข้าร่วม ประมาณ 24 เครือข่าย มีทั้งการอบรมเขียนข่าว ตัดต่อวิดีโอ ทำบล็อก

ดูเหมือนประเด็น “พลังงาน” โดยเฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้านั้นจะเป็นประเด็นร้อนและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง เพราะลำพังโรงไฟฟ้าใหม่ที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่าจะสร้างก็มีถึง 20 กว่าโรงแล้ว ยังไม่นับรวมโรงไฟฟ้าเก่าที่ยังมีปัญหายังไม่สิ้นสุด ไม่ได้รับการแก้ไขอีกหลายต่อหลายแห่ง

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นการต่อสู้คัดค้านและการดิ้นรนของประชาชนในพื้นที่ใหม่ๆ ที่เป็นเป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะส่วนที่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) จะก่อสร้างใน 4 พื้นที่ คือ โรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ อ.หนองแซง จ.สระบุรี , โรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา,โรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 540 เมกะวัตต์ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 660 เมกะวัตต์ ที่นิยมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งรายหลังนี้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้นผ่านไปแล้วเรียบร้อย

ลุยหนองแซง นักข่าวน้อยเริ่มเดินเครื่อง

ที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ที่นั่นประชาชนรวมกลุ่มกันในนาม “เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี” ที่นั่นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวนามีกะตังค์ ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจว่าถ้าพูดจาดูถูกชาวนาอย่างนั้นอย่างนี้ หรือพูดไม่ถูกหูโดยเฉพาะกับป้าๆ น้าๆ อาจโดนด่ากระเจิงหาทางไปไม่เป็นได้โดยง่าย

แกนนำที่นั่นทำงานหนัก ทั้งประสานงาน เดินสายร้องเรียนหน่วยงานราชการถึงความไม่โปร่งใส การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน, เดินสายหาความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า-นโยบายพลังงานของประเทศ รวมทั้งเดินสายรณรงค์ในพื้นที่ ดังนั้น แกนนำอย่าง “ลุงตี๋” ที่เคยเป็นแกนหลักในการเขียนข่าวจึงต้องโอนหน้าที่รายงานให้กับเยาวชนในพื้นที่ราว 2-3 คน ซึ่งเราลงพื้นที่ไปพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องหลักการเขียนข่าว เขียนรายงานอยู่ 2 วัน น้องๆ เรียนอยู่ ม.5-ม.6 รวมถึง “ทรัพย์” เด็กสาว ปวส.2 ที่เดินสายแจกใบปลิว และร่วมชุมนุมกับแม่ของเธออย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เริ่มต้น

เด็กๆ เรียนรู้ไว (และลายมือสวยมากทุกคนขอบอก) สามารถทดลองเขียนข่าวเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดได้อย่างรวดเร็วชนิดนักศึกษานิเทศฯ วารสารฯ อาจต้องอาย “ตูมตาม” เด็กชาย ม.5  ดูจะมีแววเป็นพิเศษเรื่องวาทศิลป์ ข่าวของตูมตามจึงแพรวพราวไปด้วยถ้อยคำสละสลวย ที่สำคัญ ตูมตามยังมีวิธีมองหาวรรคทองในการ quote คำพูดแหล่งข่าวที่น่าสนใจ (ข่าวเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างทีมสำรวจพื้นที่ของโรงไฟฟ้า และกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้าน มีการถกเถียง ยื้อยุดกันนิดหน่อย) เช่น การเลือกโควท “น้าปุ่น” ว่ารู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวมีลางสังหรณ์แต่เช้าว่าจะเกิดเหตุกระทบกระทั่ง จึงไปจุดธูปบอกฟ้าดินขอให้คุ้มครองชาวบ้านและให้ชาวบ้านชนะภัยที่แผ้วพาน !

มันเป็นวิธีมอง และวิธีเขียนที่น่าสนใจ แต่หลักการของข่าวอาจไม่เอื้อต่อแง่มุมดังกล่าว จึงทำความเข้าใจกับตูมตามเรื่อง “การจับประเด็นข่าว” ตามมาตรฐาน “ปกติ” เสียใหม่ และแนะนำให้ตูมตามทดลองเขียนเป็นบทความ หรือบันทึกเรื่องเล่า สนุกๆ ให้อ่านซักชิ้นน่าจะดีไม่หยอก

ทุกวันนี้ แกนนำผู้ใหญ่จะเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนประเด็นของพวกเขา แล้วให้เยาวชนเป็นหน่วยผลิตงาน ส่งข่าวกับนักข่าวทางโทรศัพท์ เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นไปด้วยความยากลำบาก

โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน….เผชิญหน่วยค้านที่แข็งแรง

จากวงพูดคุยแบบกันเอง เราได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปแลกเปลี่ยนเรื่องการเขียนข่าวอย่างค่อนข้างเป็นทางการ ในพื้นที่เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ผู้เข้าอบรมไม่ใช่เยาวชนแล้ว แต่เป็นแกนนำที่มีประสบการณ์สูง (น่ากลัวจริงๆ) ประมาณ 7-8 คน ซึ่งเป็นแกนนำในกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ทำงานอยู่ในชุมชนอยู่แล้วอย่างยาวนาน รวมไปถึงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย ซึ่งในหลายพื้นที่เรามักจะเห็นผู้นำท้องถิ่นอยู่ฝ่ายสนับสนุนการก่อสร้างโครงการต่างๆ เสียมากกว่า พวกเขารวมตัวเฉพาะกิจในนาม “เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน (คตฟ.)”

แต่ละคนมากันแบบตั้งใจสุดขีด และแลกเปลี่ยนกันอย่างเมามัน ฝีไม้ลายมือกันเขียนข่าวก็ใช่ย่อย นักข่าวหนังสือพิมพ์หัวสียังต้องทึ่ง อาทิ  “ผีเผาป้ายรณรงค์ค้านโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน กลางวันแสกๆ หน้าป้อมตำรวจ” บอกเล่าเรื่องราวที่การรณรงค์ถูกปิดกั้นทุกทางโดยจับมือใครดมไม่ได้

ทีมที่นี่น่าสนใจ เพราะมีการสืบค้นข้อมูลอย่างหนัก โต้กันทุกคืบทุกประเด็นกับทางบริษัทเจ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้โทรศัพท์พื้นฐานยังไม่ลงในพื้นที่นี้ แต่เด็กวัยรุ่นที่นี่ก็มีมือถือ และมาช่วยต่อเน็ตผ่านมือถือ เพื่อช่วยสืบค้นข้อมูลตามที่แกนนำต้องการ เรียกว่าใช้ทักษะความเชี่ยวชาญกันคนละด้าน ยังไม่นับรวม “พี่หนุ่ย” พ่อลูกอ่อนที่รับเขียนป้ายรณรงค์ และถ่ายวิดีโอ ตัดต่อวิดีโอ โดยทั้งหมดอาศัยซื้อหนังสือมาอ่าน ศึกษาเองล้วนๆ เริ่มต้นจาก 0 ชนิดที่ตอนซื้อวิดีโอมาใช้ใหม่ๆ ยังใช้ไม่คล่อง ลืมปิดเครื่อง มาเปิดอีกที มีแต่รูปรองเท้าของตัวเอง …. ถ่ายรองเท้าตัวเองตอนตระเวนเดินเพื่อไปสัมภาษณ์ชาวบ้านอยู่นานโขทีเดียว

ประจวบเหมาะกับวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ชาวบ้านในต่างตำบล อำเภอ ร่วมประสานความร่วมมือกันจัดเวทีให้ความรู้กับคนในพื้นที่รัศมี 5 กม. เรื่องผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังจากที่ไม่เคยได้ข้อมูลด้านลบไปหักกลบเพื่อตัดสินใจ มิหนำซ้ำในหลายพื้นที่ยังไม่ทราบว่าจะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่

แบบฝึกหัดแรกสำหรับนักข่าวพลเมือง มีการจัดทีมกัน 3-4 คน แบ่งงานกันสัมภาษณ์คนเข้าร่วม และหน่วยงานในพื้นที่ที่เข้าร่วมอย่างขมีขมัน เก็บข้อมูลต่างๆ และมาร่วมกันผลิตข่าวชิ้นยาวรายงานสถานการณ์วันนั้นได้หนึ่งชิ้นภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง นับเป็นกองบรรณาธิการที่มีประสิทธิภาพยิ่ง (ติดตามได้ใน : นักข่าวพลเมืองรายงาน: ชาวบ้านฝ่าฝนร่วมรณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน)

ในการสรุปประสบการณ์การทำข่าวครั้งแรกร่วมกัน มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ นักข่าวบางคนเข้าร่วมฟัง และสัมภาษณ์หน่วยงานท้องถิ่นที่คุยกับบรรดาแกนนำในพื้นที่ พอแหล่งข่าวพูดจาไม่ดี หรือให้ข้อมูลผิดๆ นักข่าวพลเมืองของเราก็กระโจนเข้าร่วมถกเถียงกับเขาอย่างเมามัน จนเพื่อนๆ แอบแซวว่าตกลงจะใส่หมวกไหน เดี๋ยวอีกหน่อยจะไม่มีแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์นะ หรือบางคนก็มีปัญหาว่า คุยกับแหล่งข่าวชาวบ้านเสียนาน เป็นคุ้งเป็นแควแต่เรียบเรียงไม่ถูก บอก “เล่าให้ฟัง ไม่เขียนได้มั้ย” ซะอย่างนั้น

ต้องคอยติดตามฝีมือของนักข่าวพลเมือง ที่สื่อสารประเด็นของตัวเอง ซึ่งจะให้มิติเชิงลึกของการต่อสู้ในพื้นที่ และความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ไม่ค่อยมีที่ทางในสื่อกระแสหลัก ซึ่งเป็นอีกความท้าทายหนึ่งในแวดวงสื่อสารมวลชน และแวดวงพลังงาน

Similar Posts