เก็บตก ตะลุย “สระบุรี-ฉะเชิงเทรา” ปั้นนักข่าวพลเมืองด้านพลังงาน

โครงการนักข่าวพลเมือง เป็นโครงการเล็กๆ ที่เว็บไซต์ข่าวเล็กๆ อย่าง “ประชาไท“ เริ่มทำขึ้น เพื่ออบรมการเขียนข่าว วิธีการนำเสนอ การสื่อสารเรื่องราวข้อมูลในประเด็นพลังงานของพื้นที่ต่างๆ โดยให้คนในพื้นที่ได้หยิบจับประเด็นขึ้นมาบอกกล่าวเอง ในสารพัดรูปแบบที่จะทำได้ เพราะลำพังนักข่าว 6-7 คนที่มีคงไม่มีปัญญาทำข่าวได้มากมายนัก ประกอบกับกระแส citizen journalist ในโลกอินเทอร์เน็ตกำลังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกตื่นตัว ประชาไทเคยจัดค่ายอบรมกันมาแล้วครั้งหนึ่ง มีเครือข่ายหลากหลายเข้าร่วม ประมาณ 24 เครือข่าย มีทั้งการอบรมเขียนข่าว ตัดต่อวิดีโอ ทำบล็อก ดูเหมือนประเด็น “พลังงาน” โดยเฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้านั้นจะเป็นประเด็นร้อนและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง เพราะลำพังโรงไฟฟ้าใหม่ที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่าจะสร้างก็มีถึง 20 กว่าโรงแล้ว ยังไม่นับรวมโรงไฟฟ้าเก่าที่ยังมีปัญหายังไม่สิ้นสุด ไม่ได้รับการแก้ไขอีกหลายต่อหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นการต่อสู้คัดค้านและการดิ้นรนของประชาชนในพื้นที่ใหม่ๆ ที่เป็นเป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะส่วนที่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) จะก่อสร้างใน 4 พื้นที่ คือ โรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ อ.หนองแซง จ.สระบุรี , โรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา,โรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 540 เมกะวัตต์ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 660 เมกะวัตต์ ที่นิยมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งรายหลังนี้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้นผ่านไปแล้วเรียบร้อย ลุยหนองแซง นักข่าวน้อยเริ่มเดินเครื่อง ที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ที่นั่นประชาชนรวมกลุ่มกันในนาม “เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม…

เครือข่ายพลังงานขยับพึ่งตนเอง สร้าง “นักข่าวพลเมือง” ลุย “นิวมีเดีย”

เครือข่ายพลังงานขยับพึ่งตนเอง สร้าง “นักข่าวพลเมือง” ลุย “นิวมีเดีย”

23 มิ.ย.51  ที่อุทยานการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พัทยา) สำนักข่าวประชาไท ร่วมกับสำนักบัณฑิตอาสาสมัครเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักข่าวประชาธรรม จัดค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพลเมือง ครั้งที่ 1 (ด้านพลังงาน) ระหว่างวันที่ 23-26 มิ.ย.โดยมีผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดต่างๆ กว่า 20 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนข่าวและการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ปัญหาผลกระทบจากแผนพัฒนาพลังงาน โดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถสร้างพื้นที่เองได้อย่างหลากหลาย ในวันแรกของการอบรม สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ จากกลุ่มรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงภาพรวมของปัญหาด้านพลังงานเรื่อง “จิ๊กซอว์พลังงานไทย“ ว่า นโยบายด้านพลังงานถูกกำหนดโดยผู้เล่นหลักจากฝ่ายรัฐและเอกชน โดยยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างสำคัญ ส่วนใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นไปในเชิงรับ โดยเฉพาะผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดนั้นก็ขาดการมีส่วนร่วม มุ่งแต่ “ใช้“ พลังงานเพียงอย่างเดียว สุกรานต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้โครงการพลังงานโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า นโยบายที่วางไว้มักให้เหตุผลว่าเพื่อรองรับการพัฒนา แต่พบว่าหลายกรณีโครงการพลังงานมีบทบาทในการกระตุ้นการพัฒนามากกว่า ดังนั้น ชุมชนจึงไม่ได้สู้กับโรงไฟฟ้าเท่านั้นแต่สู้กับ “การพัฒนา“ ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแผนพัฒนาขนาดใหญ่จะถูกใช้เป็น “หัวรถจักร“ นอกเหนือจากนั้น โครงการพัฒนายังมีเป้าหมายในตัวเองด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เบื้องหลังจึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีโรงไฟฟ้าโผล่มาทั้งที่ไม่อยู่ในแผน ขณะเดียวกันแผนต่างๆ ก็มีการปรับ ผนวกกันเป็นแผนใหม่ๆ ตลอดเวลาล่าสุดมีการขยายปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่มาบตาพุด พื้นที่ใกล้เคียงและมุ่งขยายสู่ภาคใต้ตอนบน แผนฮับพลังงานสมัยรัฐบาลทักษิณขณะนี้ก็ถูกรวมมาเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก มีอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหลักเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพลังงาน สุกรานต์ยังกล่าวโยงถึงเป้าหมายของนักข่าวพลเมืองด้านพลังงานว่า การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่อยู่บนฐานที่ว่า ทำอย่างไรพื้นที่ต่างๆ จะไม่ถูกกระทำมากมาย ขณะที่ผู้บริโภคไม่รู้สึกอะไรด้วยเลย โดยอุปสรรคหนึ่งของประเด็นด้านพลังงานคือ ที่ผ่านมาถูกทำให้เป็นเรื่องเทคนิคที่ซับซ้อน ซึ่งในความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องรู้ เรื่องเทคนิคอย่างมากมายก็ได้ แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่เพียงพอเช่นกันที่จะบอกว่า “อย่าเป็นบ้านฉัน“ เพราะไม่ว่าที่ไหน การลงทุนก็พร้อมจะไป ถ้ามีปัจจัยการลงทุนเอื้ออำนวย “ชาวบ้านสู้เองก็คงจะไม่ไหว ต้องทำงานสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นอะไรมากขึ้น และเห็นจนระดับที่รู้สึกกับมันมากขึ้น” สุกรานต์กล่าว แสงจันทร์ สีดำ…